หนามเตยคืออะไร และ การฝังชนิดต่าง ๆ เป็นอย่างไร

date blog icon

09 Jul 2021

date blog icon

15 minutes

หนามเตยคืออะไร และ การฝังชนิดต่าง ๆ เป็นอย่างไร

บทความนี้จะช่วยทำให้เข้าใจถึงคุณลักษณะ และข้อดีอีกทั้งข้อควรระวังเวลาสวมใส่จิวเวลรี่แต่ละชนิด รวมถึงเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจว่าควรจะเลือกจิวเวลรี่ชนิดไหนให้เข้ากันกับการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ทั้งนี้การฝังแต่ละชนิดจะถูกเลือกให้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ดีไซน์และชนิดของเครื่องประดับเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงไม่มีแบบไหนนับว่าเป็นแบบที่ตายตัวหรือดีที่สุด

เวลาเดินเข้าร้านเพชร หลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินคำว่า “หนามเตย” อยู่บ่อย ๆ อาจจะสงสัยว่าหนามเตยคืออะไร แต่ละแบบเป็นอย่างไร แล้วทำไมจิวเวลรี่ทุกชิ้นถึงมีแบบการฝังที่ไม่เหมือนกัน วันนี้อนันทามีคำตอบพร้อมภาพประกอบมาให้ดูกัน

หนามเตยคืออะไร?

หนามเตย ความหมายคือ โลหะที่ทำเป็นซี่ ๆ คล้ายหนามสำหรับเกาะยึดหัวแหวน ทั้งนี้ภาษาอังกฤษมาจากคำว่า Prong แปลตรงตัวแปลว่า ง่าม ซึ่งเราสามารถสรุปง่าย ๆ ได้ว่า มันคือเจ้าก้าน ที่เอาไว้เกาะอยู่กับเพชรไม่ให้เพชรหลุดไปไหนนั่นเอง

ทีนี้เรารู้จักหนามเตยกันแล้ว มาดูกันว่า หนามเตยที่ว่านี้ นำมาใช้เกาะกับเพชรในรูปแบบไหนได้บ้าง และมีการฝังในรูปแบบอื่น ๆ เป็นอย่างไร ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น การฝังแต่ละชนิดก็ขึ้นอยู่กับดีไซน์หรือชนิดของเครื่องประดับด้วย

1. การฝังหนามเตย (Prong Setting)

การฝังแบบหนามเตยมีลักษณะเป็นก้านต่ออยู่กับแหวนและกระเปาะที่ช่วยยึดเกาะเพชรเอาไว้ การฝังแบบนี้เรามักจะคุ้นหน้าคุ้นตามากที่สุด เพราะแหวนเพชรชูโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นลักษณะแบบนี้ ซึ่งแหวนเพชรชูก็มีอยู่ด้วยกันหลัก ๆ คือ แบบ 4 และ 6 หนามเตย ซึ่งในแบบที่นิยมและสามารถพบเห็นได้บ่อยที่สุดคือแบบ 4 เตย ส่วนในแบบ 6 เตยนั้นแม้จะช่วยทำให้เพชรดูกลมกว่าแบบ 4 เตยก็จริง แต่เพชรอาจจะไม่เล่นไฟเท่ากับแบบ 4 เตย เพราะถูกเตยปิดแสงมากกว่านั่นเอง

ข้อดีของการฝังหนามเตยคือช่วยให้เพชรชูสวยดูโดดเด่น และส่องประกายได้ดีที่สุด แต่ทั้งนี้จะต้องระมัดระวังเรื่องการถูกกระแทกด้วยเช่นกัน เพราะเพชรไม่ได้ถูกปกป้องรอบด้าน ทำให้อาจจะเกิดการบิ่น แตกหัก หรือหนามเตยหลวม ซึ่งอาจทำให้เพชรหลุดได้หากมีการถูกกระแทกหรือเตยเกี่ยวกับเสื้อผ้าอย่างรุนแรง


2. การฝังหุ้ม (Bezel Setting)

การฝังหุ้มคือการยึดเพชรโดยการนำทองมาหุ้มเพชรเอาไว้ ซึ่งวิธีนี้ทำให้ขอบเพชรได้รับการปกป้องรอบด้าน และมีความแข็งแรงกว่าการฝังชนิดอื่น ๆ แต่เพชรจะส่องประกายได้น้อยกว่า เนื่องจากถูกปิดไปด้วยทอง ซึ่งเป็นการทำให้แสงและไฟสามารถเข้าถึงตัวเพชรได้น้อย

3. การฝังล็อคหรือฝังสอด (Channel Setting)

การฝังสอดคือการนำเพชรเข้าไปสอดในร่องทอง ล็อคเพชรเรียงกันเป็นแถว นิยมใช้กับแหวนเพชรแถวหรือก้านแหวนเพชรที่มีลักษณะเป็นแถว

การฝังชนิดนี้สามารถรับแรงกระแทกได้พอสมควร เนื่องจากมีขอบทองปกป้องเพชรอยู่ แต่สาวหวานมักจะไม่ชื่นชอบจิวเวลรี่ที่มีการฝังชนิดนี้ เนื่องจากแม้จะดูเก๋ไก๋ก็ตาม แต่ทว่ากลับขาดซึ่งความหวานไป

4. การฝังจิกไข่ปลา (Pave Setting)

การฝังแบบจิกไข่ปลาคือการนำทองมาทำเป็นลักษณะลูกกลมๆก้อนเล็ก (จึงเรียกเปรียบเสมือนไข่ปลา) ยึดเพชรไว้กับตัวเรือน (คล้ายนำหมุดมายึดที่ขอบเพชรทั้ง 4 ด้าน)

การฝังลักษณะนี้จะเป็นส่วนช่วยทำให้จิวเวลรี่ดูมีประกายระยิบระยับ เนื่องจากเมื่อต้องกับแสง ไข่ปลาก็จะสะท้อนแสงเช่นเดียวกันกับเพชรที่ถูกฝังเอาไว้ แต่อาจจะต้องใช้ความระมัดระวังในการสวมใส่พอสมควร เนื่องจากไข่ปลานั้นมีขนาดเล็กมาก เช่นนั้นจึงอาจทำให้เพชรสามารถหลุดได้ ถ้าหากไข่ปลามีการชำรุด จากการกระแทก หรือเกี่ยวกับเสื้อผ้าอย่างรุนแรง

5. การฝังเหยียบหน้าหรือฝังจม (Flush Setting)

การฝังเหยียบหน้าหรือฝังจม คล้ายกับการฝังหุ้มมาก แต่การฝังชนิดนี้จะถูกทำให้จมลงไปในตัวเรือนมากกว่าการฝังแบบหุ้ม ส่วนข้อดีและข้อเสียจะเหมือนกับการฝังหุ้ม

6. การฝังหนีบ (Tension Setting)

การฝังหนีบคือการยืดเพชรโดยการใช้ร่องจากทอง 2 ข้างหนีบเพชรเอาไว้ การฝังเพชรลักษณะนี้จะทำให้จิวเวลรี่ดูสวยงามเนื่องจากมีเนื้อทองเข้ามาเกี่ยวข้องกับเพชรน้อย แต่ก็เสี่ยงในเรื่องของเพชรที่อาจหลุด หรือ เสียหายได้ง่ายเช่นกัน เนื่องจากมีเนื้อที่ส่วนขอบปกป้องเพชรน้อยนั่นเอง

7. การฝังไร้หนาม (Invisible Setting)

การฝังไร้หนามคือการนำเพชรมาประกอบเรียงกันโดยที่ไม่มีขอบทองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เพชรที่นำมาต่อกันมองดูคล้ายกับเพชรเม็ดใหญ่เม็ดเดียวมากกว่าการฝังแบบอื่น ๆ ทุกแบบ การฝังชนิดนี้คือการใช้ทองที่มีลักษณะเหมือนตาข่ายไว้รองรับเพชรแต่ละเม็ด และมีโลหะคล้ายใบมีดเป็นตัวล็อคเพชรเอาไว้

จิวเวลรี่ที่เป็นลักษณะการฝังแบบไร้หนามนั้นค่อนข้างมีความละเอียด ซึ่งต้องใช้ช่างที่มีประสบการณ์สูง รวมถึงมีฝีมืออันเชี่ยวชาญในการผลิต จึงจะดูเนียนตาและเรียงตัวกันสวยงาม และจะต้องมีความระมัดระวังในการสวมใส่ หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกให้มากที่สุด

 

เมื่อรู้จักการฝังแต่ละชนิดแล้ว ก็จะช่วยทำให้เราตัดสินใจเลือกซื้อจิวเวลรี่ได้ง่ายขึ้นและรู้ถึงข้อควรระวังในการสวมใส่เพื่อป้องกันความเสียหาย เพียงเท่านี้จิวเวลรี่อันเป็นที่รักก็จะอยู่กับเราไปตลอดจนชั่วลูกชั่วหลาน

RELATED stories